ไขข้อสงสัย! อธิบายการคัด 24 ทีมสุดท้ายยูโร 2020 ที่แสนงงงวย! - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ไขข้อสงสัย! อธิบายการคัด 24 ทีมสุดท้ายยูโร 2020 ที่แสนงงงวย!

พึ่งจะเริ่มรอบคัดเลือกกันไปสดๆ ร้อนๆ เลย สำหรับการคัดหาทีมเข้าสู่ “ยูโร 2020” รอบสุดท้าย ซึ่ง “มิเชล พลาตินี่” อดีตประธานยูฟ่าคนก่อน ซึ่งเป็นผู้ดำริระบบคัดเลือกนี้ขึ้นมา พร้อมหย่อนคำจำกัดความถึงการแข่งครั้งนี้ ว่าเป็นการแข่งขันที่ “โรแมนติก”​ เพื่อฉลองการครบรอบ 60 ปีของยูฟ่า แต่ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดของการคัดเลือกแล้ว มันเป็นการคัดเลือกที่สุดแสนจะงงงวยชะมัด!

ยูโร 2020 รอบสุดท้ายที่เตะกันใน 12 ประเทศ!

ก่อนจะไปอธิบาย (ตอนเขียนก็ยังลังเล ว่าจะอธิบายรู้เรื่องมั้ย ฮ่า) เกี่ยวกับการคัดเลือกทีมเข้าเล่นรอบสุดท้าย ขอพูดถึงก่อนว่าการแข่งรอบสุดท้ายของยูโร 2020 ครั้งนี้นั้น แปลกแตกต่างกว่าครั้งไหนๆ

เริ่มจากทีมที่เล่นรอบสุดท้ายนั้นแม้จะมี 24 ทีมเหมือนหนที่แล้วที่ฝรั่งเศส แต่คราวนี้ไม่มีเจ้าภาพจัดการแข่งขันอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะการแข่งขันนั้นจะเตะในทั้งหมด 12 สนามจาก 12 ประเทศ จึงไม่มีการการันตีทั้งเจ้าภาพ 1ใน 12 ประเทศ หรือแชมป์เก่า ว่าจะได้เตะรอบสุดท้ายโดยอัตโนมัติ ทุกทีมต้องคัดเลือกทั้งหมด

โดย 12 ประเทศที่ได้เป็นสังเวียนโม่แข้ง ก็มีการแบ่ง “แพ็คเกจ” ที่จะได้จัดการแข่งขันในระดับที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งประกอบด้วย

12 เมืองจาก 12 ประเทศที่เป็นสนามโม่แข้งรอบสุดท้ายยูโร 2020

Standard Package แบบที่ 1 (เป็นสนามจัดรอบแบ่งกลุ่ม + รอบ 16 ทีมสุดท้าย)
เดนมาร์ก (โคเปนเฮเก้น), ฮังการี (บูดาเปสต์),​ ฮอลแลนด์ (อัมสเตอร์ดัม), ไอร์แลนด์ (ดับลิน), โรมาเนีย (บูคาเรสต์), สก็อตแลนด์ (กลาสโกว์), สเปน (บิลเบา)

Standard Package แบบที่ 2 (รอบแบ่งกลุ่ม + รอบ 8 ทีมสุดท้าย)
อาเซอร์ไบจัน (บากู), อิตาลี (โรม), เยอรมัน (มิวนิค), รัสเซีย (เซนต์ ปีเตอร์เบิร์ก)

สนามเวมบลีย์ ที่ลอนดอน จะเป็นสังเวียนแข่งในรอบรองชนะเลิศ และชิงชนะเลิศ

Final Package (รอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้าย + รอบ 16 ทีมสุดท้าย + รอบรองฯ + รอบชิงฯ)
อังกฤษ (ลอนดอน – สนามเวมบลีย์)

การคัดเลือก 24 ทีมสุดท้าย

ผังคร่าวๆ ถึงเส้นทางที่จะได้ 24 ทีมสุดท้าย ที่ดูคร่าวๆ รับรอง งง!

เมื่อไม่ได้มีทีมเข้ารอบโดยอัตโนมัติ ก็เท่ากับว่าเราจะได้ 24 ทีมเน้นๆ ที่มาจากการลงเล่นในรอบคัดเลือกทั้งหมด ถ้าคัดเลือกกันแบบธรรมดาๆ เหมือนทุกที ก็คงไม่เป็นประเด็น แต่หนนี้มีการคัดเลือก 20 ทีม จากการคัดเลือกรอบปกติ กับดันมี 4 ทีม ที่จะได้จากการคัดเลือกผ่านผลงานจาก “ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก”​ เข้ามาเพิ่ม มันเลยงงกันทั้งวงการเลยจ้ะ!

รอบคัดเลือกปกติ คัดเอา 20 ทีมเข้ารอบสุดท้าย

เอาเรื่องง่ายมาพูดกันก่อนละกัน! รอบคัดเลือกปกตินั้น จะทำการคัดเลือกกันระหว่างเดือน มี.ค. – พ.ย. ปีนี้ โดยแบ่งเอา 55 สมาชิกของยูฟ่า มาจัดเป็นกลุ่มทั้งหมด 10 กลุ่มถ้วน กลุ่มละ 5-6 ทีม โดยวิธีการแบ่งกลุ่มนั้นจัดเป็นโถ (Pot) ทั้งหมด 7 โถ ตามผลงานที่เล่นกันมาในยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก (เดี๋ยวพูดรายละเอียดต่อไป) แบ่งเป็นโถแรกคือ 4 ทีมที่ได้แชมป์กลุ่มในเนชั่นส์ ลีก A ต่อด้วยโถถัดไปคือทีมอันดับ 5-10 ตามผลงานในเนชั่นส์ ลีก A ได้ 10 ทีมที่จะเป็นตัววาง ไม่ต้องเจอกัน นอกนั้น ทีมที่เหลือก็จะถูกจัดวางตามลำดับโถต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบในแต่ละกลุ่ม

โดยทีมยักษ์ใหญ่ที่หลุดออกจาก 10 อันดับทีมวางแรก ก็มีชื่อของ “อินทรีเหล็ก” เยอรมัน ซึ่งเป็นผลจากผลงานของเนชั่นส์ ลีก ไม่ดี (ถูกจัดเป็นอันดับ 11 ในลีก A) ทำให้ต้องเสี่ยงจับมาเจอทีมวาง ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องมีอยู่ร่วมกลุ่มกับทีมวางอย่างฮอลแลนด์

หน้าตาของการแบ่ง 10 กลุ่มในรอบคัดเลือกปกติของยูโร 2020

เมื่อได้ 10 กลุ่มที่แบ่งเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เตะกันแบบพบกันหมดในกลุ่ม เหย้า-เยือน พอจบ 8 นัด (หากในกลุ่มมี 5 ทีม) หรือ 10 นัด (หากในกลุ่มมี 6 ทีม) ใครเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของแต่ละกลุ่ม ก็จะเข้าไปเล่นยูโร 2020 รอบสุดท้ายทันที

ส่วนโควตาอีก 4 ทีมที่เหลือ จะเกิดจากการแข่งขันที่เรียกว่า “เพลย์ออฟ” ซึ่งไม่ได้เอาอันดับ 3 ของแต่ละกลุ่มในรอบคัดเลือกปกติมาเตะกันเหมือนครั้งก่อนๆ แต่ทำการเพลย์ออฟจากทีมตามผลงานที่ทำได้ในเนชั่นส์ ลีก ซึ่งมีรายละเอียดซับซ้อนมากกก ดังที่เราจะอธิบายต่อไป

รู้จักกับเนชั่นส์ ลีก กันเสียก่อน

ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ไอเดียใหม่ของยูฟ่า จะเริ่มต้นตั้งแต่ซีซั่น 2018/19 เป็นต้นไป

การแข่งขัน “ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก” นั้นเป็นรูปแบบการแข่งขันใหม่ ซึ่งผุดจากไอเดียในยุคที่มิเชล พลาตินี่ยังดำรงตำแหน่งบอสใหญ่ของยูฟ่า โดยประเดิมแข่งขันซีซั่นแรกกันในปี 2018/19 และดำเนินต่อไปเรื่อยๆ คล้ายๆ ระบบการแข่งขันแบบลีกของสโมสรโดยมีกติกาเบื้องต้น (แต่งงชิบ) ว่ารอบการแข่งขันแบบลีกจะแข่งในปีที่เป็นเลขคู่ (เช่น 2018, 2020, 2022) ส่วนรอบไฟนอลแชมป์ชนแชมป์ (เดี๋ยวอธิบายข้างล่าง) จะแข่งขันกันในปีที่เป็นเลขคี่ (เช่น 2019, 2021, 2023) โดยในวันนี้เราจะช่างการแข่งขันรอบหน้าไปก่อน มาโฟกัสที่เนชั่นส์ ลีก ซีซั่น 2018/19 กันเป็นหลัก ซึ่งแข่งรอบระบบลีกจบกันไปแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2018)

เนชั่นส์ ลีก นั้นจะแบ่งทีมชาติสมาชิกของยูฟ่า (ปัจจุบันมี 55 ชาติ) ออกเป็น 4 ลีก 4 ระดับ A, B, C และ D แบ่งกันโดยคะแนนสัมประสิทธิ์ของยูฟ่า (A สัมประสิทธิ์ดีสุดทีมเก่งๆ อยู่ A หมด แล้วเรียงไปเรื่อยๆ จนถึง D) โดยในแต่ละลีก (A, B, C, D) ก็จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยให้ได้อีก 4 กลุ่ม โดยลีก A และ B จะมีกลุ่มละ 3 ทีมส่วน C กับ D มีทั้งกลุ่มละ 3 และ 4 ทีม การสุ่มวางทีมในกลุ่ม ก็ใช้วิธีวางทีมตามโถ (Pot) เพื่อไม่ให้ได้เปรียบเสียเปรียบ แบ่งโถตามค่าสัมประสิทธิ์ยูฟ่าเช่นเคย

การแบ่งลีก และกลุ่มของเนชั่นส์ ลีก 2018/19 ก็จะคิดตามสัมประสิทธิ์ของยูฟ่าตามภาพ

เมื่อแบ่งกลุ่มเรียบร้อย แต่ละกลุ่มย่อยก็เตะกันไปแบบพบกันหมดเหย้า-เยือน เมื่อเสร็จสิ้น 4 นัด (กลุ่มที่มี 3 ทีม) หรือ 6 นัด (กลุ่มที่มี 4 ทีม) ก็นำเอาทุกทีมมาเรียงจัดอันดับตามผลงานที่เล่นเนชั่นส์ ลีกไป โดยอันดับ 1 ของกลุ่มจัดอันดับด้วยกัน, อันดับ 2 จัดด้วยกัน, อันดับ 3 จัดด้วยกัน และอันดับ 4 (ในลีก C และ D) จัดด้วยกัน เพื่อเรียงลำดับว่าใครได้อันดับเท่าไหร่จากทั้งหมด

เมื่อเตะเนชั่นส์ ลีก ระบบแบ่งลีกจบแล้ว ก็จะเอาทีมทั้งหมดมาเรียงลำดับตั้งแต่ 1-55 ตามนี้
ถึงเบลเยี่ยมจะมี 9 แต้ม แต่ก็จะจัดอันดับเฉพาะทีมที่ได้ที่ 2 ด้วยกัน ไม่เกี่ยวกับทีมแชมป์

ยกตัวอย่างจากภาพ (ด้านบน) ในลีก A แชมป์ของแต่ละกลุ่ม (สวิส, โปรตุเกส, ฮอลแลนด์, อังกฤษ) ก็จะถูกจัดอันดับด้วยกัน ส่วนอันดับ 2 (เบลเยี่ยม, ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาลี) ก็จะถูกจัดด้วยกัน สังเกตว่า ถึงแม้เบลเยี่ยมจะเก็บได้ถึง 9 แต้ม คะแนนสูงกว่าฮอลแลนด์ หรืออังกฤษ ซะอีก แต่เป็นตายร้ายดี ก็จะถูกคิดเฉพาะทีมอันดับ 2 ด้วยกัน เบลเยี่ยมเลยเป็นได้แค่อันดับ 5 ในระบบเนชั่นส์ ลีก เท่านั้น

เมื่อจบการแข่งระบบลีกของเนชั่นส์ ลีกแต่ละซีซั่น ก็จะมี 4 ทีมตกชั้น และ 4 ทีมเลื่อนมาแทน

พอจัดเรียงอันดับทั้งหมดทั้ง 4 ลีกเสร็จสิ้นแล้ว 4 อันดับสุดท้ายของแต่ละลีกก็จะมีอันตกชั้นไปอยู่ลีกต่ำกว่าในซีซั่นถัดไป (รอบหน้าคือ 2020/21) แล้ว 4 อันดับสูงสุดของลีกล่างก็จะได้เลื่อนชั้นขึ้นมาแทนที่ ตามรูปทีมที่จะตกชั้นจากลีก A หล่นไป B ก็คือ โครเอเชีย, โปแลนด์, เยอรมัน, ไอซ์แลนด์ กลับกัน บอสเนียฯ, ยูเครน,​ เดนมาร์ก, สวีเดน จากลีก B ก็จะขึ้นมาอยู่ลีก A แทนในซีซั่นหน้า

มีรอบไฟนอล แต่! ไม่เกี่ยวกับการคัดไปยูโรรอบสุดท้าย

ซีซั่น 2018/19 รอบไฟนอล มีสวิส, โปรตุเกส, ฮอลแลนด์, อังกฤษ เป็น 4 ทีมเตะชิงเงินกัน

พิเศษนิดนึงสำหรับ แชมป์กลุ่มย่อยในลีก A หรือทีมอันดับ 1-4 ของเนชั่นส์ ลีก ซึ่งในซีซั่นนี้คือสวิส, โปรตุเกส, ฮอลแลนด์ และอังกฤษ ก็จะได้ไปเตะรอบพิเศษกันต่อในชื่อ “ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก ไฟน่อล” หรือคล้ายรอบแชมป์ชนแชมป์อะไรทำนองนั้น โดยจะเตะกันแบบน็อคเอาต์ ใครชนะได้ชิง ใครแพ้ชิงที่ 3 ซึ่งการแข่งขันรอบพิเศษนี้จะแข่งกันที่โปรตุเกส ในช่วงเดือน มิ.ย. ของปีนี้ (ซีซั่นถัดๆ ไปก็คือปีที่เป็นเลขคี่) เพื่อชิงเงินรางวัลก้อนพิเศษ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการหาที่นั่งพิเศษไปแข่งยูโร 2020 รอบสุดท้ายแต่อย่างใด (ย้ำ! ไม่เกี่ยวกับการหา 24 สุดท้าย แต่อย่างใด)

สรุปอีกนิด เผื่องงว่าเตะเนชั่นส์ ลีก ไปแล้วได้อะไร?

ไม่ได้แค่ชิงเงินนะจ๊ะ ถ้วยแชมป์เขาก็สวยดีเหมือนกันนะ
  1. สิ่งที่ได้แน่นอนคือเรื่องของเงินรางวัลที่แต่ละชาติจะได้รับตามแต่ผลงานการเล่น ยิ่งพวกลีก A ที่มีการแข่งไฟนอล หาสุดยอดแชมป์ มีถ้วยแชมป์ให้ด้วย
  2. ได้เล่นในระบบลีกแบบสโมสร คือไม่ว่าคุณอยู่ระดับไหน ต้องทำผลงานให้ดี เพราะมีจัดอันดับไปคัดยูโร มีขึ้นชั้นตกชั้น
  3. ได้ลงเล่นกับทีมระดับใกล้เคียงเสริมสร้างกำลังใจ ทีมลีก D จะได้ไม่โดนกระทำชำเราอยู่เรื่อยไป ในขณะที่ทีมใหญ่ๆ ระดับ A ก็ได้วัดฝีเท้ากัน คนดูก็สนุก ตื่นเต้น
  4. ทำอันดับได้ดี ก็เป็นผลดีต่อการคัดเลือก ต่อแรกคือได้เป็นทีมวางในการแบ่งกลุ่มรอบคัดเลือกปกติ เพื่อหาทีมไปยูโรรอบสุดท้าย
  5. ต่อที่สอง หากคุณได้แชมป์กลุ่มย่อย คุณการันตีได้เพลย์ออฟแน่นอน  หากคุณพลาดไม่ผ่านรอบคัดเลือกปกติ (แม้จะอยู่ลีก C หรือ D) ในขณะที่ทีมที่ไม่ได้แชมป์กลุ่ม ก็ต้องทำผลงานให้ดี เพราะอันดับได้สิทธิ์เพลย์ออฟ อาจหล่นลงมาถึง หากทีมอันดับดีกว่าผ่านเข้ารอบไปแล้ว (เดี๋ยวอธิบายเพิ่มเติมในส่วนถัดไป)

เมื่อพอจะเข้าใจกับ “ยูฟ่า เนชั่นส์ ลีก”​ ที่พลาตินี่สรรสร้างขึ้นมาแล้ว ก็ถึงคราวมาอธิบายกันต่อ ว่าไอ้ 4 ทีมสุดท้าย ที่จะได้เข้าไปเล่นยูโร 2020 จากเนชั่นส์ ลีก นั้นมันมาจากไหนกัน มา!

รอบเพลย์ออฟของยูโร 2020 ที่จะทำให้เราได้ 4 ทีมสุดท้าย

ยังตามกันทันอยู่ใช่มั้ยครับ?!
โอเค เมื่อเราได้ 20 ทีมไปเรียบร้อยจากระบบคัดเลือกปกติ และเราก็ได้ทำการแข่งขันเนชั่นส์ ลีก กันเสร็จสิ้นแล้ว ได้ลำดับของเนชั่นส์ ลีกกันเรียบร้อยไล่เรียงจากอันดับ 1 ไปจนถึงอันดับ 55 จากผลงาน ซึ่งสำหรับเนชั่นส์ ลีก ซีซั่น 2018/19 ผลเป็นดังนี้

ผลการแข่งเนชั่นส์ ลีก มีผลโดยตรงกับรอบเพลย์ออฟ ซึ่งให้สิทธิ์ทีมอันดับสูงแต่ละลีกก่อน

ทีนี้ ในเมื่อเราต้องการ 4 ทีมสุดท้าย ระบบ “เพลย์ออฟ” นี้ จึงทำการแบ่งการคัดเลือกออกเป็น 4 เส้นทาง (ฝรั่งใช้คำว่า Path ผมจึงขอใช้คำว่า Path ทับศัพท์ไปเลยเนอะ) โดยแต่ละ Path A, B, C, D นั้น แบ่งตามลีกของเนชั่นส์ ลีก ที่แข่งกันไปแล้ว A, B, C, D นั่นแหละ แต่มันมีข้อแม้ที่จะจัดทีมลงมาเพลย์ออฟดังนี้

(1) ทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายไปแล้ว จากการแข่งขันคัดเลือกปกติ (ที่แบ่ง 10 กลุ่ม เอาที่ 1 ,ที่ 2 เข้า) จะไม่ถูกจัดมาเล่นเพลย์ออฟนี้ เพราะเข้ารอบแล้ว จะมาเพลย์ออฟอีกทำไมล่ะ! อย่างใน Path A ปกติทีมที่ได้สิทธิ์ก่อนก็คือแชมป์กลุ่มย่อยเนชั่นส์ ลีก หรืออันดับ 1-4 (สวิส, โปรตุเกส, ฮอลแลนด์, อังกฤษ) แต่ถ้ามีทีมไหนผ่านเข้ารอบไปแล้ว สิทธิ์ก็จะตกเป็นของอันดับถัดไปตามลำดับเนชั่นส์ ลีก เช่น โปรตุเกสเข้ารอบไปแล้ว สิทธิ์ก็จะตกเป็นของเบลเยี่ยม (อันดับ 5) แล้วก็ไล่ถัดไปเรื่อยๆ ในลีก A ซึ่งอันดับสุดท้ายคือ อันดับ 12 ไอซ์แลนด์/ ใน Path B, C หรือ D ก็ทำลักษณะเดียวกัน

จากตัวอย่างนี้ เบลเยี่ยม (อันดับ 5) ได้สิทธิ์แทนโปรตุเกส ซึ่งผ่านรอบคัดเลือกไปแล้ว

(2) ในกรณีที่ ทีมในลีกนั้น ไม่เพียงพอจะใส่ลงไปใน Path เช่น ในลีก A ทั้ง 12 ทีม ดันมีทีมพาเหรดกันเข้ารอบจนเหลือไม่ถึง 4 ทีมจะใส่ลงมาใน Path A ให้ทำการดันทีมใน Path ต่ำกว่า หรือ Path B ขึ้นมาแทน ก็ไล่กันไปตั้งแต่บอสเนีย อันดับ 13 (ดีที่สุดในลีก B) ไล่เรียงไปเรื่อยจนได้ครบ 4 ทีมใน Path A แล้วก็เอาจนครบ16 ทีมใน 4 Path *จำไว้ว่า มีแต่เลื่อนขึ้น ไม่มีเลื่อนลง แต่อย่างใด*

ตัวอย่างนี้ ถ้าทีมในลีก A ไม่พอจัดลง Path A ก็จะดันบอสเนียฯ จากลีก B ขึ้นมาแทน

พอเราได้ทั้ง 16 ทีม ที่ใส่ลงมาใน Path A, B, C, D กันจนครบครันแล้ว แต่ละ Path ก็จะไปบรรเลงเพลงแข้งเพลย์ออฟเพื่อหา 1 ทีมเท่านั้นในแต่ละ Path กันเอาเอง โดยแข่งขันกันแบบน็อคเอาท์ ไขว้กันแบบ อันดับ 1 ใน Path เจออันดับ 4 ส่วนอันดับ 2 เจออันดับ 3 ใครชนะก็เข้าชิงกัน ใครชนะนัดชิงก็ถือเป็นผู้ชนะของ Path ได้สิทธิ์ไปเล่น Euro 2020 รอบสุดท้าย ก็เป็นอันครบ 24 ทีมพอดี

โดยจริงๆ แล้ว ยังจะมีรายละเอียดเรื่องการได้เป็นเจ้าบ้านก่อนของทีมที่อันดับเนชั่นส์ ลีกดีกว่าอีก แต่มันจะค่อนข้างลงลึกไปนิด เอาเป็นว่าเราเข้าใจที่คอนเซปต์โดยรวมของที่มา 24 ทีมกันก่อน จะดีกว่าเนอะ!

ไม่รู้ตอนน้าแกคิดแกงงมั้ย แต่บอกตรงว่าเล่นเอามึนกันทั้งวงการอยู่พักนึง

ก็นั้นล่ะจ้ะ!ทั้งหมดของการคลอดเนชั่นส์ ลีก และการคัดเลือกอันยุ่งเหยิงของยูโร 2020 (และก็มีสิทธิ์จะมีผลต่อครั้งต่อไป ถ้ายังไม่เปลี่ยน) ซึ่งพลาตินี่แกมองว่ามัน “โรแมนติก” และยิ่งใหญ่เหมาะสมกับการฉลอง 60 ปีของยูฟ่า ซึ่งมันก็ดูน่าสนุกดีหรอก แต่กว่าจะเข้าใจกันถี่ถ้วน เล่นเกาหัวกันแกรกๆ ทั่วทั้งวงการกันเลยทีเดียว @_@

ข้อมูลเพิ่มเติม : UEFA, Wikipedia

Picture : The Mirror, UEFA, New Age, Marca, Wikipedia, The Telegraph, The National, Euronews


rocketseer

ทำงาน Sports content | บ้าบอล-เป็น The KOP | (เคย)บ้าดูหนัง-(เคย)ทำเพจหนัง | อยู่บ้านนาน ก็ชักเป็นบ้า!

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save