ฉายาไทยของทีมบอล มันมีที่มายังไงกัน? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ฉายาไทยของทีมบอล มันมีที่มายังไงกัน?

หลายต่อหลายคนที่ติดตามฟุตบอลมาไม่ว่ารุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ คงจะเคยสงสัยกันถึงที่มาฉายาไทยของทีมบอลไม่มากก็น้อย ฉายาที่คุ้นเคยกันดี

เช่น “ปีศาจแดง” “หงส์แดง” “สิงโตน้ำเงินคราม” หรือที่แปลกประหลาดดูงุนงงกับที่มาอย่าง “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” “สิงห์เหนือ” “เสือใต้” “แตนอาละวาด” จริงๆ แล้วมันมาจากไหนกัน?!

ขอย้อนให้แฟนบอลรุ่นใหม่ได้รู้กันนิดนึง ว่าสมัยก่อนน่ะ บอลลีกยุโรปนั้นไม่ได้หาดูกันง่ายเหมือนในปัจจุบัน อย่าว่าแต่ถ่ายทอดสดเลย ไฮไลท์เอง กว่าจะหาดูได้ ต้องรอเกาะจอดูรายการทีวีอย่าง เจาะสนามของย.โย่ง หรือข่าวสาร ผลบอลต่างๆ ถ้าไม่ซื้อหนังสือพิมพ์สยามกีฬา/สตาร์ซอคเกอร์สมัยก่อน ก็ยากจะติดตามกันได้แบบทันท่วงที สื่อสิ่งพิมพ์จึงสำคัญมาก ในการบอกเล่าเรื่องบอลลีกยุโรปให้เราได้เสพกัน ฉายาของทีมบอลต่างๆ ก็เลยถูกสรรสร้างขึ้น เพื่อเพิ่มอรรถรสให้กับการอ่านนับแต่ยุคนั้น ส่วนรูปแบบที่มาของฉายาต่างๆ เนี่ย มีหลากหลายทิศทางมาก The Macho จึงขอเรียบเรียงแหล่งที่มาหลักๆ มาให้ได้อ่านกัน

ฉายาตามสัญลักษณ์ตราสโมสร

ตราสโมสร เป็นที่มาของฉายาที่ไม่ซับซ้อน ของสองคู่ปรับตลอดกาลจากแดนผู้ดี

ตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างการเรียกแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดว่า “ปีศาจแดง” หรืออย่างลิเวอร์พูล ที่เคยถูกเรียกว่า “เครื่องจักรสีแดง” จากรูปแบบการเล่นในยุคเรืองอำนาจ ก็กลายมาเป็น “หงส์แดง” ตามตราสโมสร ซึ่งจะว่าไปแล้ว สัญลักษณ์ของทีมสีแดงจากลุ่มแม่น้ำเมอร์ซีไซด์ มันคือ “นกไลเวอร์เบิร์ด” นกสัญลักษณ์ประจำเมือง ที่คอยปกปักรักษาคนในเมืองทั้งยามอาศัยอยู่บนฝั่ง และออกทะเล (เป็นเมืองท่าสำคัญของอังกฤษ) แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม บ้านเราถึงมองเจ้านกที่ว่ากลายเป็นหงส์ จนกลายเป็นหงส์แดงที่ติดปากกันถึงทุกวันนี้

ตราสโมสรปัจจุบันของโคเวนทรี ซิตี้ ซึ่งบ้านเราเรียกฉายา “ช้างกระทืบโรง”

ทีมอื่นๆ ที่ได้รับฉายาไทยๆ แบบตามตราสโมสร ก็อย่างเช่น การเรียกท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์ ว่า “ไก่เดือยทอง” ซึ่งนอกเหนือจากภาพสัตว์ในโลโก้ ก็เรียกตามความหมายแท้จริงของฝรั่ง ที่คำว่า “Spurs” มาจากเดือยของไก่ชน ซึ่งไปเกี่ยวพันกับไก่สายบู๊ของตัวละคร Harry Hotspur ในวรรณกรรมของเชคสเปียร์นู่นเลย หรือทีมคลาสสิกอย่างโคเวนทรี บ้านเราก็เรียกซะโหดว่า “ช้างกระทืบโรง” เพราะมีช้างในโลโก้ ทั้งๆ ที่ในอังกฤษเขาก็เรียกกันตามสีเสื้อทีมเหย้าว่า “สกายบลูส์”

ฉายาที่ฝรั่งเขาเรียกกัน

วิวัฒนาการโลโก้ของวัตฟอร์ด ซึ่งแม้จะใช้รูปกวางมานาน แต่เราก็เรียก “แตนอาละวาด”

อันนี้ขอยกตัวอย่างไปที่ “แตนอาละวาด” ซึ่งเป็นฉายาของวัตฟอร์ด เพราะเห็นกันชัดเจนว่าโลโก้ของสโมสรน่ะเป็นรูปกวาง แต่กลับเรียกว่า “แตน” ซะงั้น ซึ่งเหตุผลมันก็ไม่ได้ซับซ้อน เพราะฝรั่งเขาเรียกวัตฟอร์ดกันว่า “Hornets” หรือแตน จากสีเสื้อเหย้าของทีมที่เป็นสีเหลือง-ดำ แถมทีมยังเคยเปลี่ยนโลโก้มาใช้รูปแตนอยู่ช่วงนึงด้วย บ้านเราเลยเรียกตามเขามา หรืออย่าง “สาลิกาดง”​ นิวคาสเซิล โลโก้นับตั้งแต่ปี 1988 ก็ไม่มีนกสักตัว มีแต่ม้าน้ำ แต่บ้านเราเรียกแบบนี้ตามฉายาฝรั่งว่า “Magpies” หรือนกกางเขน ซึ่งมีสีดำ-ขาว เหมือนกับสีเสื้อเหย้าของทีม (และเคยอยู่บนโลโก้ยุคก่อนนั้น) ปรับแต่งซะหน่อยให้ไพเราะ ก็เลยเป็นสาลิกาดงไป

ภาพการย้อนรำลึกถึงสมัยก่อน ที่ Toffee Lady ของเอฟเวอร์ตันจะแจกทอฟฟี่ให้คู่แข่ง

หรือจะเอาที่แปลกขึ้นมาอีกนิด ก็คงเป็น “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” ซึ่งก็เอามาจากฉายาของฝรั่งที่เรียกเอฟเวอร์ตันว่า “The Toffees” จริงๆ จากการที่สมัยเก่าแก่ เจ้าของทีมเป็นเจ้าของโรงงานผลิตทอฟฟี่ด้วย เลยปิ๊งไอเดีย นำเอาทอฟฟี่มาแจกให้คู่แข่ง และแฟนบอลในวันแข่งเพื่อโปรโมตสินค้า ที่นู่นเขาก็เลยเอาจุดเด่นนี้มาตั้งเป็นฉายาซะเลย

ฉายาที่เราบัญญัติกันขึ้นมาเอง

คู่ปรับบุนเดสลีก้ายุคคลาสสิก ซึ่งดูจากโลโก้ ไม่เห็นมีสิงห์หรือเสือสักกะตัว

อันนี้ต้องชื่มชมความคิดสร้างสรรค์ของน้าๆ อาๆ ยุคนั้นเลย ตัวอย่างง่ายมากก็คือ 2 ทีมลีกเยอรมันที่ห้ำหั่นชิงอำนาจกันในยุคนั้นอย่าง “สิงห์เหนือ” ฮัมบูร์ก กับ “เสือใต้” บาเยิร์น มิวนิค ซึ่งทั้ง 2 สโมสร ก็เหมือนสโมสรส่วนใหญ่ในเยอรมัน ที่ไม่นิยมมีรูปสัตว์อยู่ในตราสโมสร และแฟนบอลที่นั่นเอง ก็ไม่ได้เรียกทั้งสองทีมตามดินแดนเหนือ-ใต้ที่ทีมตั้งอยู่ แต่บ้านเราก็เอาสำนวน “สิงห์เหนือ-เสือใต้” นี้ มาตั้งให้ทีมทั้งสองตามถิ่นที่ตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นคู่ปรับสำคัญระหว่างกัน

ดีเอโก้ มาราโดน่า หนึ่งในสตาร์ระดับท็อป ที่ทำให้บ้านเราตั้งฉายาเรียกบาร์ซ่าว่า “เจ้าบุญทุ่ม”

หรือเพื่อนร่วมลีกอย่าง “ห้างขายยา” ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ก็ตั้งดื้อๆ เพราะทีมเป็นของบริษัทไบเออร์ บริษัทเวชภัณฑ์ใหญ่ ก็เลยเป็นทีมห้างขายยาไปซะงั้น หรือจะเป็นทีมชั้นนำอย่างบาร์เซโลน่า ซึ่งมีฉายา “เจ้าบุญทุ่ม” ที่มาจากสมัยนั้นบาร์ซ่าเขาทุ่มไม่อั้นดึงนักเตะระดับโลกมาค้าแข้งอยู่เสมอ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “ต่างดาว” ในยุคหลังมีเมสซี่ เพราะมีฝีเท้าฉกาจกรรจ์อย่างกับมาจากต่างดาวทำนองนั้น

นี่ยังไม่รวมฉายาที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมของสโมสรเรดดิ้ง ซึ่งบ้านเราเคยมีช่วงนึงเรียกฉายาว่า “หนอนหนังสือ” เพราะเอาให้มันสอดคล้องกับคำว่า “Reading” ทั้งๆ ที่ฉายาของฝรั่งเขาออกจะเท่ว่า “The Royals” !! หรือจะเอาสโมสรเก่าแก่โอลด์แฮม แอทเธเลติก ที่เอากันง่ายๆ กันเลยว่า “หมูชรา” เพราะมาจาก “Oldham” น่ะแหละ โว้ว! ที่เล่ามา เป็นแค่เพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับฉายาที่บ้านเราเรียกกัน ซึ่งแม้บางอันจะแปลกประหลาดไปบ้าง แต่ก็ต้องขอคารวะคนที่คิดหาฉายาเหล่านี้มาตั้ง เพราะนอกจากมันจะช่วยเพิ่มอรรถรสแบบไทยๆ ยังช่วยให้เราจดจำหลากหลายสโมสรได้ง่ายขึ้น จนกลายเป็นความรู้ 101 ที่คนดูบอลทุกคนต้องเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง แม้โลกออนไลน์ปัจจุบัน จะทำให้เราเสพสื่อจากการอ่านน้อยลงมากก็ตาม

Text – Rocketseer

ข้อมูล: Pantip, Wikipedia
เครดิตภาพ: YouTube, IBTimes UK, Coventry Telegraph, canacopegdl.com, Everton FC, World Soccer Talk, CharityStars

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save