ค้นประวัติละเอียด! “ฮาคีม อัล-อาไรบี” เขาคือใครกัน? - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
ค้นประวัติละเอียด! “ฮาคีม อัล-อาไรบี” เขาคือใครกัน?

กลายเป็นข่าวคึกโครมจนเป็นกระแสโซเชียลจากระดับทวีปไปเป็นระดับโลก กับข่าวที่ประเทศไทยกักตัวอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน “ฮาคีม อัล-อาไรบี” หลังถูกแจ้งหมายแดงของอินเตอร์โพล จนเป็นเหตุให้มีผลกระทบตามมาทั้งเรื่องของการเมือง, การทูต และแน่นอนคือด้านกีฬา ซึ่งมีการส่งสัญญาณออกมาจากฟีฟ่า ว่าไทยมีสิทธิ์ถูกบอยคอตไม่สามารถเข้าร่วมฟุตบอลโลก 2022 หากยังกักตัวฮาคีมไว้ ไม่ส่งตัวกลับออสเตรเลียที่เจ้าตัวได้สิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัย

เรื่องของความถูกต้อง หรือเบื้องลึกเบื้องหลังทางการเมืองต่างๆ เราคงไม่ขอออกความเห็นกันตรงนี้ เพราะยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลของบ้านเรา วันนี้เลยแค่อยากจะพาไปรู้จักกับ “ฮาคีม อัล-อาไรบี” ในแง่ของประวัติให้มากขึ้นแทน ว่าเขาคือใครกัน มีที่มาที่ไปยังไง ก่อนจะมาโดนจับในบ้านเรา

จากแข้งดาวรุ่งพุ่งแรง สู่ผู้ต้องหาร้ายแรง

ประวัติในช่วงที่อยู่ที่บาห์เรนของฮาคีมนั้น ไม่มีข้อมูลมากมายอะไรนัก ทราบเพียงแต่ว่าเขาเกิดที่ประเทศบาห์เรนในวันที่ 7 พ.ย. ปี 1993 (พ.ศ. 2536) โดยปัจจุบันอายุ 25 ปี เริ่มต้นอาชีพค้าแข้งตั้งแต่เป็นเยาวชน โดยสังกัดอยู่ในอคาเดมี่ของสโมสรอัล-ชาบับ สโมสรระดับกลางของลีกสูงสุดบาห์เรน โดยสโมสรแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองจิดาห์ฟ (Jidhafs) ทางตอนเหนือของประเทศ ห่างจากเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดอย่างกรุงมานามา ราวๆ 3 กิโลเมตรเท่านั้น

ฮาคีมในวัยหนุ่ม สมัยยังอยู่กับทีมอัล-ชาบับ ทีมเดียวของเขาในบาห์เรน

ช่วงปีที่ฮาคีมขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่ของอัล-ชาบับ คาดว่าเริ่มตั้งแต่ปี 2011-2012 หรือตอนที่เขาอายุราว 18-19 ปี ในตำแหน่งกองหลัง ฝีเท้าจัดว่าไม่ธรรมดาเลย เพราะมีบางแหล่งข่าวแจ้งว่าเขาเคยติดทีมชาติบาห์เรนในระดับเยาวชนด้วย

ชีวิตของฮาคีมก็ดูปกติดี จนกระทั่งถึงวันเกิดอายุครบ 19 ปีของเขาเมื่อ 7 พ.ย. 2012 ระหว่างที่เขาออกจากบ้านเพื่อไปหาคาเฟ่ดูศึกเอล คลาสสิโก้ ระหว่างเรอัล มาดริดกับบาร์เซโลน่า ฮาคีมถูกควบคุมตัวพร้อมแจ้งว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรง รวมถึงมีเอี่ยวกับการวางเพลิงสถานีตำรวจ ในช่วงเหตุการณ์ Bahraini uprising ในปี 2011 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการลุกฮือประท้วงอาหรับสปริงส์ โดยมีข้อมูลซัดทอดมาจากพี่ชายของเขาที่ชื่อเอหมัด ที่โดนควบคุมตัวจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน

ส่วนนึงของการประท้วงรุนแรงในปี 2011 ซึ่งฮาคีมถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วม

เจออย่างนี้เข้าไป ฮาคีมถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก เพราะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์เผาสถานีตำรวจ เขาเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลอยู่ต่างประเทศ โดยแมทช์นั้นมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์อีกต่างหาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ โดยเขาทำการแจ้งกับอัยการที่ทำคดี แต่ก็ถูกสั่งให้ขยายการควบคุมตัวต่อไปเป็นเวลาถึง 45 วัน ระหว่างนี้เองที่ฮาคีมเคยเล่าออกสื่อว่า เขาถูกทำร้าย ทรมาน และกดดันสารพัด ที่รุนแรงทีสุดคือโดนฟาดขาของเขาเป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง พร้อมขู่จะหักขาเขาเพื่อให้อาชีพค้าแข้งของเขาต้องจบลง

ท้ายที่สุดแล้ว การปฏิเสธ และคำให้การต่างๆ ของเขาไม่เป็นผล จนทำให้โดนตัดสินว่ามีความผิดจริง ซึ่งจากการเปิดเผยของทนายความของฮาคีมขณะรับฟังข้อกล่าวหาในชั้นศาลที่ไทย ข้อกล่าวหาที่เขาโดนที่บาห์เรน ถือว่าหนักเอาเรื่อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

“บาห์เรนพิพากษาจำคุก 10 ปี ฐานความผิดลอบวางเพลิง, ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายมากกว่า 5 คน ในที่สาธารณะ และใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญากรรมและก่อกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน ครอบครองวัตถุไวไฟซึ่งเป็นระเบิดขวด เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จากเหตุการณ์เผาสถานีตำรวจ”

ถึงคราวหนี และลี้ภัยสู่ออสเตรเลีย

หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิด และอยู่ในระหว่างสู้คดี ฮาคีมซึ่งได้รับการประกันตัว มีโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตนักฟุตบอลอีกครั้ง จนทำให้เขาติดทีมชาติบาห์เรนชุดใหญ่ เคยลงเล่นแมทช์เป็นทางการ 1 นัด และการติดทีมชาตินี้เอง นำไปสู่โอกาสในการหนี โดยช่วงปลายปี 2013 ที่ได้ออกนอกประเทศไปแข่งที่การ์ต้า เขาตัดสินใจไม่เดินทางกลับ พร้อมกับหนีไปยังประเทศอื่นทันที

(ซ้าย) ฮาคีมในสีเสื้อทีมชาติบาห์เรน (ขวา) ฮาคีมขณะอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย

ฮาคีมเดินทางออกจากการ์ต้าไปยังประเทศอิหร่าน ก่อนจะบินยาวข้ามมายังมาเลเซีย และเคยมาที่ไทยด้วย โดยใช้เวลาถึง 6 เดือน ก่อนจะบินสู่ประเทศออสเตรเลีย และร้องขอเป็นผู้ลี้ภัยในออสเตรเลียเมื่อปี 2014 ระหว่างรออนุมัติ เขาอาศัยอยู่ที่เมลเบิร์นกับแฟนสาว ที่รู้จักกันมาตั้งแต่อายุ 17 และแต่งงานที่นั่น โดยออสเตรเลียใช้เวลาพิจารณาร่วม 3 ปี ก่อนจะให้สิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัยกับฮาคีม และอนุญาตให้พำนักถาวรที่แดนจิงโจ้ในปี 2017

ชีค ซัลมาน บิน อิบราฮิม อัล-คาลิฟา ประธาน AFC คนปัจจุบัน

โดยมีช่วงหนึ่งในปี 2016 ที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศถึงความไม่เป็นธรรมที่เขาได้รับในบาห์เรน ว่าตัวเขาคิดว่า “ชีค ซัลมาน บิน อิบราฮิม อัล-คาลิฟา” ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ AFC คนปัจจุบัน มีส่วนรู้เห็นในการเพิกเฉยต่อความยุติธรรม และการทรมานตัวเขา ขณะถูกคุมขัง โดยข่าวตอนนั้นฮือฮาพอสมควร เพราะท่านชีคกำลังเสนอตัวลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่ากับจิอันนี่ อินฟานติโน่ อยู่พอดี โดยท้ายสุดอินฟานติโน่ชนะเลือกตั้ง แต่ท่านชีคก็ยังดำรงตำแหน่งประธาน AFC ตามเดิม ควบด้วยตำแหน่งรองประธานฟีฟ่า อีกหนึ่งตำแหน่ง

ฟุตบอลยังผูกพัน แม้ต้องค้าแข้งในลีกกึ่งอาชีพ

ฮาคีมในสีเสื้อของ เกาเบิร์น วัลเลย์ ซันส์ ทีมลีกรองของออสเตรเลีย

ช่วงที่ฮาคีมยังรอสิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัยถาวรอยู่ มีบันทึกว่าตัวเขาเริ่มหาทีมฟุตบอลลงเล่น เพราะตัวเขาเองยังคงรักในการเล่นฟุตบอล และอายุอานามก็พึ่งจะ 20 ต้นๆ เท่านั้น โดยเขาค้าแข้งกับสโมสรกึ่งอาชีพ ในลีกรองของออสเตรเลีย ที่ชื่อ กรีน กัลลี่, เกาเบิร์น วัลเลย์ ซันส์, เปรสตัน ไลอ้อนส์ และสโมสรปัจจุบันปาสโค่ เวล ซึ่งรวมๆ สถิติแล้ว เขาเล่นในลีกรองของออสซี่ เกินกว่า 60 นัดเลยทีเดียว

แผนฮันนีมูนล่ม ถูกซิวตัวทันทีเมื่อถึงไทย!

ฮาคีมตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นที่หมายในการฮันนีมูนกับแฟนสาว โดยเดินทางมาถึงบ้านเราในวันที่ 27 พ.ย. ปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการเดินทางออกนอกออสเตรเลียครั้งแรกหลังจากได้สิทธิ์เป็นผู้ลี้ภัย เมื่อถึงสุวรรณภูมิ ฮาคีมถูกซิวตัวทันที เนื่องจากทางการไทยได้รับการแจ้งจากตำรวจสากล ว่าพี่แกอยู่ในหมายบัญชีแดงเป็นผู้ต้องหา ซึ่งต้องถูกส่งตัวกลับเพื่อดำเนินคดี

ถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมทันทีเมื่อถึงสนามบินสุวรรณภูมิ และนำไปฝากขัง

ตลอดระยะเวลาราวๆ 2 เดือนที่ผ่านมา ที่กระบวนการดำเนินไป เกิดความวุ่นวาย และข่าวสารที่มาคนละทิศคนละทางมากมาย จนทำเอาโลกโซเชียลลุกเป็นไฟ เพราะส่วนใหญ่เข้าใจว่าฮาคีมคือผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิดตามที่ถูกบาห์เรนกล่าวหา ซึ่งเจ้าตัวก็ยืนกรานมาตลอด พร้อมเรียกร้องเสมอว่าไม่ต้องการกลับไปบาห์เรน ดังนั้นหลายฝ่ายจึงกดดันให้ไทยไม่ส่งเขากลับบ้านเกิด หรือไม่ควรจะไปควบคุมตัวเขาด้วยซ้ำ จนกลายเป็นที่มาของแฮชแท็คดัง #SaveHakeem และตามมาด้วยการโจมตีบ้านเราว่า #BoycottThailand กันจนอึกทึกคึกโครม

ในส่วนของกีฬาแล้ว นอกเหนือจากการขู่ฮึ่มๆ ของฟีฟ่าจะแบนไทยเข้าร่วมบอลโลกตามที่ว่าไป สมาคมฟุตบอลของออสเตรเลีย ยังได้ทำการประกาศยกเลิกการเดินทางมาตั้งแคมป์ฝึกซ้อมในไทยของทีมจิงโจ้ชุดอายุต่ำกว่า 22 ปี อีกด้วย ซึ่งก็เท่ากับว่าโปรแกรมลงอุ่นเครื่องกันก็ต้องยกเลิกไปด้วย

ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ หนึ่งในนักฟุตบอลที่ออกมาโพสต์สนับสนุนการปล่อยตัวฮาคีม

ด้านคนในแวดวงฟุตบอลเอง ก็เริ่มมีนักฟุตบอลดังหลายคน ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการปล่อยตัวฮาคีมเช่นกัน นำโดย เจมี่ วาร์ดี้ กองหน้าทีมชาติอังกฤษของเลสเตอร์ ซิตี้, ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา อดีตกองหน้าคนดังของเชลซี, แกรี่ ลินิเกอร์ อดีตกองหน้าตำนานทีมชาติอังกฤษ หรือร็อบบี้ ฟาวเลอร์ อดีตศูนย์หน้าของลิเวอร์พูล ที่ยินดีมอบเสื้อพร้อมลายเซ็น ให้กับภรรยาของฮาคีม เพื่อเอาไปออกประมูลนำเงินไปสู้การสนับสนุนการพาฮาคีมกลับออสเตรเลีย ด้านสโมสรฟุตบอลในออสเตรเลียระดับต่างๆ ก็เริ่มทำป้ายผ้า #SaveHakeem ถ่ายรูปออกสื่อก่อนแมทช์การแข่งขันด้วยเช่นกัน

ฟุตบอลในระดับต่างๆ ของออสเตรเลีย แสดงออกถึงการสนับสนุนพาฮาคีมกลับแดนจิงโจ้

ก็ยังไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตอนจบของเรื่องนี้จะออกมาท่าไหน เพราะเท่าที่ทราบมา ไทยเองก็มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งบาห์เรน และออสเตรเลีย จนเป็นที่มาของการร้องขอจากแถลงการณ์บ้านเรา ว่าอยากจะให้ทั้งสองประเทศเจรจาหาทางออกร่วมกัน สำหรับเราในฐานะคนเสพข่าว สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็คงต้องติดตามกันต่อ และใช้สติให้มากในการอ่านข่าวสาร ก่อนจะแสดงความคิดเห็นออกไป

ข้อมูล : PPTV, ช่อง One, Wikipedia, Twitter, AFC

Text – Rocketseer

Picture – SBS, The Guardian, Shepparton News, CNN, Dailymail, IBTimes UK, The USA Feed, PPTV

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save