12 เรื่องที่ควรรู้ กับการทำพาสปอร์ต แบบเจาะลึก - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
12 เรื่องที่ควรรู้ กับการทำพาสปอร์ต แบบเจาะลึก

ให้มันเป็นเรื่องง่ายๆ กับ 12 เรื่องที่ควรรู้
กับการทำพาสปอร์ต (Passport)

พาสปอร์ต (Passport) หรือหนังสือเดินทาง เป็นเอกสารสำคัญกับเหล่านักเดินทาง ทุกคนต้องมีติดตัว เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ ก็จะมีคำถามกันอยู่บ่อยๆว่า ต้องทำยังไง? เตรียมเอกสารอะไรบ้าง? ต้องรอนานมั๊ย? เอาเป็นว่าวันนนี้เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมๆกัน

สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มหัดเดินทางเที่ยวต่างประเทศครั้งแรก ก็จะต้องไปทำพาสปอร์ตให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทาง เราก็ได้รวบรวมวิธีการทำพาสปอร์ตใหม่ มาให้อย่างละเอียด พร้อมทั้งยังมีข้อมูลของการต่ออายุพาสปอร์ต การทำพาสปอร์ตใหม่ในกรณีสูญหาย รวมไปถึงกรณีที่วีซ่ายังเหลือ แต่พาสปอร์ตหมดอายุ ต้องทำยังไง? เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

พาสปอร์ตมีกี่ประเภท 

เพราะพาสปอร์ตนั้นมีหลายรูปแบบ ดังนั้นก่อนจะไปทำพาสปอร์ต เราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า จุดมุ่งหมายการเดินทางไปต่างประเทศของเรานั้น ไปเพื่ออะไร? ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
1. หนังสือเดินทางทั่วไป (ท่องเที่ยว)

  • บุคคลบรรลุนิติภาวะอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์
  • ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
  • หนังสือเดินทางทั่วไปที่ออกให้แก่พระภิกษุ สามเณร

2. หนังสือเดินทางการทูต และหนังสือเดินทางราชการ
3. หนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์

สถานที่ทำพาสปอร์ต

หลายคนอาจเคยได้ยินว่า การทำพาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทางจะต้องทำที่กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ หรือสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ปัจจุบันทางกรมการกงศุลได้จัดตั้งสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวไว้ทั่วประเทศแล้ว ซึ่งเราสามารถไปทำพาสปอร์ตได้ดังสถานที่ต่อไปนี้

  • กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ 
    ที่อยู่ : 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 2203 5000 กด 1 (เมื่อเข้าสู่ระบบกรมการกงสุล กด 5 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่), 09 3010 5248
  • สำนักงานหนังสือเดินทาง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (รับทำเฉพาะหนังสือเดินทางราชการเท่านั้น)
    ที่อยู่ : ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (อาคารบี ประตูฝั่งทิศตะวันออก) ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 2203 5000 ต่อ 49007, 49009, 49010, 49017
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา- ศรีนครินทร์
    ที่อยู่ : ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค บางนา-ศรีนครินทร์ ชั้น 2 โซนอี
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 2136 3800, 0 2136 3801 (โทรสาร), 09 3010 5246
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า 
    ที่อยู่ : อาคาร SC Plaza สถานีขนส่งกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) ถนนบรมราชชนนี กรุงเทพฯ
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 2422 3431, 0 2422 3432 (โทรสาร)  
  • สำนักงานหนังสือเดินทาง ศูนย์บริการการไปทำงานต่างประเทศ (รับทำหนังสือเดินทางเฉพาะผู้ที่มีใบส่งตัวจากกรมการจัดหางานเท่านั้น)
    ที่อยู่ : อาคารประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดินแดง กรุงเทพฯ 10400
    โทรศัพท์ : 0 2245 9439, 0 2245 1042, 0 2245 9438 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว MRT คลองเตย กรุงเทพฯ 
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว MRT คลองเตย กรุงเทพฯ
    ที่อยู่ : สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล สถานีคลองเตย ชั้น Retail
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.30 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) 
    โทรศัพท์ : 0 2024 8896, 09 3010 5287
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว เชียงราย
    ที่อยู่ : อาคารองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หลังใหม่ ถนนศูนย์ราชการ ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57100
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 5317 5375, 0 5317 5374 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว เชียงใหม่
    ที่อยู่ : ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 5389 1535-6, 0 5389 1534 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว พิษณุโลก
    ที่อยู่ : ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ถนนเทพารักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 5525 8173, 0 5525 8155, 0 5525 8131, 0 5525 8117 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว นครสวรรค์
    ที่อยู่ : ศูนย์บริการร่วมจังหวัดนครสวรรค์ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ถนนพหลโยธิน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 5623 3453, 0 5623 3454, 0 5623 3452 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว อุดรธานี
    ที่อยู่ : ศูนย์อเนกประสงค์ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี (ตรงข้ามกับศาลหลักเมือง) ถนนอธิบดี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี 41000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 4221 2827, 0 4221 2318, 0 4222 2810 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ขอนแก่น
    ที่อยู่ : หอประชุมอำเภอเมืองขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000 
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 4324 2707, 0 4324 2655, 0 4324 3441 (โทรสาร) 
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว อุบลราชธานี
    ที่อยู่ : อาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ชั้น 1 ด้านหลัง ผั่งทิศตะวันตก จังหวัดอุบลราชธานี 34000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 4534 4581-2, 0 4543 3646 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว นครราชสีมา
    ที่อยู่ : ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ถนนมหาดไทย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 4424 3132, 0 4424 3124 , 0 4424 3133 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จันทบุรี
    ที่อยู่ : อาคารลานค้าชุมชน ถนนเลียบเนิน ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี 22000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 3930 1706-9, 0 3930 1707
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สุราษฎร์ธานี
    ที่อยู่ : ศาลาประชาคม ถนนหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 7727 4940, 0 7727 4942-3, 0 7727 4941 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ภูเก็ต
    ที่อยู่ : ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ถนนนริศร อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 7622 2080, 0 7622 2081, 0 7622 2083, 0 7622 2082 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว สงขลา
    ที่อยู่ : ศูนย์ราชการจังหวัดสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 7432 6508-10, 0 7432 6511 (โทรสาร)
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ยะลา
    ที่อยู่ : ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถนนสุขยางค์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000 
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 7327 4526, 0 7327 4036, 0 7327 4037, 0 7327 4527 (โทรสาร) 
  • สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว พัทยา
    ที่อยู่ : ศูนย์การค้าพัทยาอเวนิว ชั้น 1 ถนนพัทยาสาย 2 เลขที่ 399/9 หมู่ 10 ถนนพัทยาสาย 2 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 20150
    เวลาเปิด-ปิด : วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
    โทรศัพท์ : 0 3842 2438, 0 3842 2437 (โทรสาร)

เอกสารการทำพาสปอร์ต 

การทำพาสปอร์ตทั่วไป (บุคคลบรรลุนิติภาวะ อายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์) ใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น แต่ถ้ามีการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล เปลี่ยนที่อยู่อาศัย ซึ่งข้อมูลไม่ตรงกับบัตรประชาชน ให้นำหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย พร้อมทั้งเงินค่าธรรมเนียม 1,000 บาท ถ้าต้องการส่งทางไปรษณีย์ก็มีค่าส่งด้วยอีกประมาณ 40-60 บาท ส่วนการทำพาสปอร์ตของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีนั้น จะต้องมีเอกสาร ดังนี้

  • บัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของผู้เยาว์ที่ยังมีอายุการใช้งาน ในกรณีที่อายุเกิน 15 ปีแล้ว
  • สูติบัตรฉบับจริง กรณีผู้เยาว์อายุยังไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์
  • บัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของบิดา
  • บัตรประจําตัวประชาชนฉบับจริงของมารดา
  • หากบิดาหรือมารดาเป็นชาวต่างชาติให้ใช้หนังสือเดินทางฉบับจริงของบิดาหรือมารดาแล้วแต่กรณี
    * โดยบิดาและมารดาต้องมาลงนามให้ความยินยอมต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในวันรับคําร้อง กรณีที่ผู้ปกครองไม่สามารถเดินทางมาเซ็นยินยอมได้ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ consular.go.th

ขั้นตอนการทำพาสปอร์ต 

ขั้นตอนการทำพาสปอร์ตนั้นไม่ได้ยุ่งยากมากมายหรือ ใช้เวลาเยอะอย่างที่คิด ปัจจุบันยิ่งสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะมีบริการลงทะเบียนขอรับบริการหนังสือเดินทางล่วงหน้าออนไลน์ (passport.in.th) ไว้อำนวยความสะดวกด้วย ส่วนถ้าใครจะเลือกใช้วิธี Walk-in เข้าไปที่สำนักงานหนังสือเดินทางเลยก็ได้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. รับบัตรคิว  เมื่อไปที่สำนักงานหนังสือเดินทางแล้ว ก็ยื่นบัตรประชาชน หรือสูติบัตรฉบับจริง (กรณีที่อายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์) เพื่อรับบัตรคิว กรอกเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งคำขอส่งทางไปรษณีย์ (ผู้ยื่นคำขอที่สำนักงานในต่างจังหวัดจะรับเล่มได้ทางไปรษณีย์เท่านั้น)
2. ยื่นคำร้อง  ขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจสอบข้อมูลบุคคล ทั้งบัตรประชาชน/สูติบัตรฉบับจริง และบันทึกข้อมูลชีวภาพ อาทิ ส่วนสูง พิมพ์ลายนิ้วมือ ถ่ายภาพ จากนั้นก็จะตรวจสอบข้อมูลและลงชื่อในคำร้อง รวมทั้งบันทึกการจัดส่งทางไปรษณีย์
3. ชำระค่าธรรมเนียม  ค่าธรรมเนียมการทำพาสปอร์ตคนละ 1,000 บาท และมีค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ (EMS) 40 บาท รับใบเสร็จ และใบรับทางไปรษณีย์
* สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว MRT คลองเตย จะมีค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ (Passport Speed Post – PSP) 60 บาท

การรับหนังสือเดินทาง

การรับหนังสือเดินทางนั้น สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. รับด้วยตนเอง ภายใน 2 วันทำการ (สำหรับผู้ที่ยื่นคำร้องที่กรุงเทพฯ เท่านั้น)
  2. รอรับทางไปรษณีย์ (EMS) ประมาณ 5-7 วันทำการ
    * สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว MRT คลองเตย จะรับได้ภายใน 3 วันทำการ (PSP)

ในกรณีไม่สามารถมารับเล่มด้วยตนเองสามารถมอบอํานาจให้ผู้อื่นรับแทนโดยลงลายมือชื่อมอบอํานาจในใบรับเล่มพร้อมยื่นเอกสารที่ระบุไว้ในใบรับเล่มมาแสดง

การทำพาสปอร์ตเร่งด่วน 

สำหรับใครที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศอย่างเร่งด่วน ภายในวันนี้พรุ่งนี้ ทางกรมการกงสุลก็ได้จัดให้บริการการทำพาสปอร์ตเร่งด่วนไว้รองรับด้วยมีรายละเอียด ดังนี้

  • บริการหนังสือเดินทางเล่มด่วนได้รับเล่มในวันทำการถัดไป
    ได้รับเล่มในวันทําการถัดไปที่ฝ่ายจ่ายเล่ม กรมการกงสุล ในเวลาเดียวกันกับที่ชําระเงินเสร็จสิ้น
    สํานักงานที่ให้บริการ : กรมการกงสุล, สํานักงานหนังสือเดินทางฯ บางนา-ศรีนครินทร์, สํานักงานหนังสือเดินทางฯ ปิ่นเกล้า สํานักงานหนังสือเดินทางฯ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ และสํานักงานหนังสือเดินทางฯ ต่างจังหวัด 14 แห่ง
    ค่าธรรมเนียมการทําหนังสือเดินทาง 2,000 บาท
  • บริการหนังสือเดินทางเล่มด่วนได้รับเล่มภายในวันทำการเดียวกัน
    ยื่นคําร้อง และชําระเงินให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 12.00 น. ขอรับเล่มได้เฉพาะที่ฝ่ายจ่ายเล่ม กรมการกงสุล ตั้งแต่เวลา 15.30-16.30 น.
    สํานักงานที่ให้บริการ : เฉพาะที่กรมการกงสุลเท่านั้น
    ค่าธรรมเนียมการทําหนังสือเดินทาง 3,000 บาท
    * ทั้งนี้การให้บริการทำพาสปอร์ตเร่งด่วนนั้นจะให้บริการรวมกันวันละไม่เกิน 400 เล่ม

ทำพาสปอร์ตออนไลน์ได้หรือไม่ 

การทำพาสปอร์ตจะต้องไปดำเนินการด้วยตัวเองเท่านั้น ขณะนี้จึงยังไม่มีระบบการทำพาสปอร์ตแบบออนไลน์ แต่เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น กรมการกงสุลจึงได้จัดทำระบบจองคิวออนไลน์ไว้ให้ประชาชนได้ลงทะเบียนจองคิวการทำพาสปอร์ตได้ก่อน โดยไม่ต้องไปนั่งรอนาน สะดวกเวลาใด สาขาไหน ก็สามารถจองคิวไว้ได้เลย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ passport.in.th และ เฟซบุ๊ก พาสปอร์ตไทยออนไลน์

พาสปอร์ตหมดอายุ ต่ออย่างไร ?

โดยปกติแล้วพาสปอร์ตจะมีอายุเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น และถ้าต้องการเดินทางออกนอกประเทศจะต้องมีอายุการใช้งานเหลือมากกว่า 6 เดือน เพราะฉะนั้นถ้าพาสปอร์ตของใครกำลังจะหมดอายุ หรือมีอายุการใช้งานเหลือน้อยกว่า 6 เดือนก็ต้องไปทำพาสปอร์ตใหม่เลยค่ะ เริ่มต้นใหม่เหมือนครั้งแรกที่มาขอทำพาสปอร์ตเลย เตรียมบัตรประชาชน ถ้ามีการเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล ก็เอาเอกสารเหล่านั้นมาแสดงด้วย พาสปอร์ตเล่มเก่า (กรณีที่ยังเหลืออายุการใช้งาน) พร้อมทั้งเงินค่าธรรมเนียม 1,000 บาท ถ้าต้องการส่งทางไปรษณีย์ก็มีค่าส่ง 40-60 บาท

พาสปอร์ตหมดอายุ แต่วีซ่าประเทศอื่น ๆ ยังเหลือ ?

ในกรณีที่มีวีซ่าของบางประเทศหลงเหลืออยู่ในพาสปอร์ตที่กำลังจะหมดอายุ หลาย ๆ ท่านก็กังวลว่าควรทำอย่างไรถ้าต้องเดินทางไปยังประเทศเหล่านั้นอีกครั้ง สำหรับบางประเทศนั้นเราสามารถที่จะถือพาสปอร์ตทั้งเล่มเก่าและเล่มใหม่ยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้เลยค่ะ แต่บางประเทศก็จะต้องให้เราไปดำเนินการรับรองหนังสือเดินทาง (Endorsement) เล่มเดิมจากกรมการกงสุลไทยเสียก่อน

การไปติดต่อรับรองหนังสือเดินทาง

การติดต่อขอรับรองหนังสือเดินทาง (Endorsement) ที่กรมการกงสุล มีขั้นตอนและเอกสาร ดังนี้

ขั้นตอน 

  • ติดต่อกรมการกงสุล ชั้น 2 ช่อง 82, 83 เพื่อตรวจเอกสารและรับคำร้อง
  • ติดต่อช่อง 84, 85 เพื่อยื่นคำร้องพร้อมเอกสาร และชำระค่าธรรมเนียม
  • ติดต่อช่อง 85,87 เพื่อรับหนังสือเดินทางที่ได้รับการรับรองและแก้ไขเรียบร้อยแล้วตามเวลาที่กำหนด

เอกสารที่จะต้องใช้ประกอบการยื่นคำร้องรับรองหนังสือเดินทางเล่มเดิม 

  • หนังสือเดินทางเล่มใหม่
  • หนังสือเดินทางเล่มเก่าที่มีวีซ่าอยู่ พร้อมสำเนา
  • สำเนาวีซ่าของประเทศที่ได้รับ
  • ค่าธรรมเนียม 100 บาท
  • บัตรประชาชน หรือสูติบัตรพร้อมสำเนา
  • ในกรณีที่มีการเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล หรือทะเบียนสมรสให้นำเอกสารการเปลี่ยนแปลงมาด้วย

พาสปอร์ตหาย ทำอย่างไร 

ในกรณีที่ทำพาสปอร์ตหายไม่ต้องตกใจไปนะคะ มีทางแก้ไขแน่นอน ยิ่งถ้าหายภายในประเทศก็ยิ่งดำเนินการง่ายมาก ๆ ทันทีที่รู้ว่าเราทำพาสปอร์ตหาย ให้ลองนึกดูก่อนว่าพาสปอร์ตเราหมดอายุหรือยัง ถ้ายังไม่หมดอายุ ให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจก่อน แล้วเอาใบแจ้งความกับบัตรประชาชนรีบไปทำเล่มใหม่ค่ะ แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าเล่มเก่าหาย ทางกรมการกงสุลจะได้ยกเลิกเล่มเก่า

ถ้าในกรณีที่มีวีซ่าประเทศอื่นที่ยังไม่หมดอายุอยู่ด้วย ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเราไม่สามารถดำเนินการรับรองหนังสือเดินทาง (Endorsement) เล่มเก่าได้ จะต้องทำวีซ่าใหม่เท่านั้น

ส่วนถ้าใครทำหายในต่างประเทศ จะต้องแจ้งความหนังสือเดินทางสูญหายต่อทางการท้องถิ่น และนำใบรับแจ้งความดังกล่าวนั้นพร้อมเอกสารแสดงการมีสัญชาติไทยของตนหรือเอกสารทะเบียนราษฎรที่มีอยู่ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ ไปติดต่อที่สถานทูต สถานกงสุลไทยที่ใกล้ที่สุด เพื่อขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่

หากในกรณีที่ผู้ทำหนังสือเดินทางสูญหายต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการเร่งด่วน ไม่สามารถรอรับหนังสือเดินทางได้ สถานทูตสถานกงสุลจะออกเอกสารเดินทาง (Certificate of Identity) ให้ใช้เดินทางกลับประเทศไทยได้ครั้งเดียว เมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้วเอกสารเดินทางจะหมดอายุการใช้งาน รายละเอียดเพิ่มเติม consular.go.th

ทำพาสปอร์ตวันเสาร์ได้ไหม 

ขณะนี้ (วันที่ 31 พฤษภาคม 2561) ยังไม่มีการเปิดให้บริการทำพาสปอร์ตในวันเสาร์ แต่หากเป็นช่วงเทศกาล หรือฤดูกาลท่องเที่ยว สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวบางแห่งก็จะเปิดให้บริการวันเสาร์ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

พาสปอร์ต 10 ปี 

เมื่อปลายเดือนเมษายน 2561 นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินโครงการจัดจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ และขยายอายุการใช้งานหนังสือเดินทางของผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ จาก 5 ปี เป็น 10 ปี ทั้งนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานย่นระยะเวลาการยื่นคำร้องจาก 20 นาทีให้เหลือเพียงแค่ 12 นาที พร้อมกับเก็บข้อมูลม่านตาเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้กลางปีหน้า

รวบรวมข้อมูลมาให้แน่นขนาดนี้ เชื่อว่าน่าจะไปทำพาสปอร์ตด้วยตัวเองกันได้แล้วเนอะ ส่วนเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเพิ่มเติม เราจะมาอัปเดตให้เรื่อย ๆ แต่ก่อนเดินทางไปทำก็เช็คข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ก่อนก็ดี สามารถโทร. สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของแต่ละสำนักงานได้เลย หรือที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2572 8442

Sharry

Writer, Project Editor, Photographer

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save