รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรมของพ่อหลวง "อัครศิลปิน" ในดวงใจคนไทยทุกคน - The Macho
 
Roral Enfield - Hunter 350
728x150 - Nissan Almera
728x150 - Hunter4
รำลึกถึงพระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรมของพ่อหลวง “อัครศิลปิน” ในดวงใจคนไทยทุกคน

ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือการได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือ คนไทย ทั้งปวง

ประโยคจากชายผู้เป็นที่คิดถึงสุดหัวใจของประชาชนชาวไทย ณ เวลานี้ครบรอบ 2 ปีแล้วนับหลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559  ถึงแม้วันเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนานขนาดไหนเหตุการณ์ครั้งนั้นยังถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อันยากจะลืมเลือน

พระองค์ทรงทำเพื่อประโยชน์สุขของคนไทยตลอดพระชนม์ชีพ ไม่เพียงแค่พระราชกรณียกิจและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายนับไม่ถ้วน พระองค์ยังทรงเป็นแบบอย่างต่อการดำเนินชีวิต เป็นหลักประพฤติปฏิบัติให้คนไทยได้เจริญรอยตาม หรือทรง เป็น “ไอดอล” ทุกสาขาอาชีพแก่คนไทย

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ วันนี้ The MaCho จึงขอน้อมรำลึกถึงพระองค์โดยการรวบรวมเรื่องราวพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านจิตรกรรมมาให้อ่านกันเพลินๆ

ภาพวาดเป็นอีกหนึ่งรูปแบบศิลปะที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มฝึกฝนด้วยพระองค์เองมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ขณะประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยในช่วงแรกทรงศึกษาจากตำราต่างๆ จากนั้นเมื่อพระองค์สนใจผลงานของศิลปินท่านใด ก็จะเสด็จไปทรงเยี่ยมศิลปินเหล่านั้นเพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิค วิธีการแล้วนำข้อมูลเหล่านั้นกลับไปฝึกฝนปฏิบัติต่อ โดยพระองค์ทรงเริ่มวาดภาพอย่างจริงจังหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์

ลักษณะภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์จะเป็นแนวจิตรกรรมร่วมสมัยหลายรูปแบบ ทั้งแบบเหมือนจริง (Realistic) ภาพเหมือนบุคคล (Portrait) ภาพทิวทัศน์ (Landscape) หรือแม้แต่แนวแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) ที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก

โดยในระยะแรกจะเป็นภาพเหมือน ทรงโปรดที่จะวาดพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจก็จะทรงงานวาดภาพอยู่เสมอ

และในช่วงหลัง ๆ จะทรงวาดภาพแบบนามธรรม (Abstractionism)  แต่เป็นสาระ ในฐานะจิตรกรขณะทรงงานทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็มที่ จะนิยมใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากพระองค์ทรงโปรดเส้นโค้ง แต่ในบางครั้งก็ใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อยเช่นกัน

หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ประทานข้อสังเกตเกี่ยวกับภาพวาดฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชการที่ 9 ว่า  ” …ได้ทรงเริ่มวาดภาพเหมือนซึ่่งเหมือนจริงและละเอียดมาก แต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกรรมสมัยใหม่ และทรงค้นคว้าหาทางใหม่แปลก ๆ ที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกของพระองค์ โดยไม่ต้องกังวลกับความเหมือน อันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระ ..”

หลังจากปี พ.ศ. 2510 ด้วยพระราชภารกิจเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาด้านต่างๆ ทำให้ไม่ทรงมีเวลาสร้างสรรค์ผลงานอีก แต่ก็มีภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่เผยแพร่ไปแล้วถึง 47 ภาพ และยังไม่เคยเผยแพร่อีกกว่า 60 ภาพเลยทีเดียวนอกจากนั้นยังทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำภาพวาดฝีพระหัตถ์ไปแสดงตามนิทรรศการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหัตถกรรมแห่งชาติ งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี 

รวมถึงจัดแสดงในท้องพระโรงวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือแม้แต่ส่งไปประเทศญี่ปุ่น ที่ Tokyo Fuji Art Museum และ OMM Exhibition Hall ด้วยเช่นกัน  นับได้ว่าพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะทุกแขนงอย่างแท้จริง สมกับพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน ”  ซึ่งแปลว่าผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือ ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน อย่างแท้จริง หากใครอยากชมภาพผลงานทั้งหมดเพิ่มเติมสามารถเข้าชมได้ในเว็บไซต์ อัครศิลปิน

 

ข้อมูล : praew|trueplookpanya|วมใจภักดิ์รักสามัคคีทำความดีถวายในหลวง
ภาพ :  อัครศิลปิน|My home | ShareYourThaiMemory
Suthamat
The girl with flowers tattoo

บทความที่เกี่ยวข้อง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save